ปณิธาน คุณแม่จรีพร
“เรายึดมั่นต่อยอดปณิธาน“
“ฉันเรียน ป.4 วัดศาลาแดง เเล้วเรียนไม่ใช่ว่าเรียนง่ายๆ เช้าๆ ต้องไปเรียนแต่เช้า กลางวันต้องกลับมากินข้าวที่บ้าน ทำงานทุกวัน ใจเราคิดไว้ว่าเราไม่มีความรู้ แต่ต้องให้ลูกเรามีความรู้ทุกคน พยายามที่สุด ลูกเราต้องไปเรียนเมืองนอกด้วย ทุกคนเลย”
คุณแม่จรีพร เทพผดุงพร เกิดเป็นลูกสาวคนจีน จึงต้องแบกรับงานทุกอย่างของครอบครัว ชีวิตไม่เคยรู้จักวันหยุด ต้องแจวเรือจาก
บางขวางถึงบางแค ตวงข้าวเปลือก ข้าวสารและน้ำมันก๊าดขาย
สมัยก่อนคนจีนไม่รักลูกสาว พ่อจึงไม่สนับสนุนให้เรียนหนังสือ แต่เมื่อเธอใช้น้ำตาเข้าแลกบวกกับคำอ้อนวอนของแม่ จึงได้เรียน
ถึงชั้นป.4 โดยมีข้อแม้ว่างานบ้านห้ามขาดตกบกพร่อง
สมัยเรียนพ่อไม่เคยให้เงินค่าขนม แม่แอบขโมยให้บ้าง แต่นานๆ ครั้ง กลางวันต้องกลับมากินข้าวที่บ้านแล้วรีบกลับไปเก็บดินสอสั้นๆ
ที่เขาทิ้งไว้ตามใต้ถุนโรงเรียนเพื่อหาหญ้าปล้องมาต่อด้ามให้ยาวพอที่จะจับเขียนได้
เมื่อไม่ได้เรียนต่อ ก็เปลี่ยนมาช่วยน้าสาวขายขนม เลี้ยงเป็ด หากุ้งหาปลามาทำกะปิ เรียกว่าทำทุกอย่างที่สุจริตเพื่อเงิน แต่เมื่อน้องชายสองคนไปเรียนต่อเมืองจีน เธอก็ต้องกลับมาช่วยที่บ้านขายของ แบกกระสอบข้าว ใช้แรงงานเหมือนผู้ชาย เมื่ออายุครบ 19 ปี ญาติห่างๆ คนหนึ่งแนะนำคุณอำพล เทพผดุงพร ให้พ่อรู้จักเพื่อขอเธอแต่งงาน พ่อเห็นเป็นคนขยัน โหงวเฮ้งดีจึงยกให้ ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ได้ถามความสมัครใจของเธอ น้ำตาแห่งความเคว้งคว้างไหลอาบแก้ม นาทีนั้นหากมียาพิษใกล้มือคงตัดสินใจจบชีวิตลง แต่เมื่อหาทางออกให้ชีวิต
ไม่ได้ ก็จำใจต้องแต่ง
คุณอำพลมีหุ้นค้ามะพร้าวกับญาติๆ แต่ถูกโกงจึงมาเปิดกิจการส่วนตัว แต่ละวันเธอต้องแจวเรือมาจอดขายมะพร้าวที่สี่แยกมหานาค
สวมเสื้อแขนยาว สวมงอบสู้แดด ตั้งแต่เช้าจดเย็น ส่วนสามีทำตลาดขายส่งในเมือง เมื่อมีลูกก็ต้องฝากให้แม่ช่วยเลี้ยง สองสามีภรรยาปากกัดตีนถีบ ขนมะพร้าววันละสามสี่พันลูกไปขาย เมื่อกิจการเริ่มไปได้ดี พ่อจึงช่วยเซ้งห้องแถวย่านท่าเตียนให้ โดยเปิดเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดอุดมมะพร้าว ขายตั้งแต่ตีสี่ถึงสี่ทุ่ม แม้จะเหนื่อยสายตัวแทบขาดแต่ก็ชื่นใจ เพราะกิจการโตวันโตคืน มีรายได้ถึงขั้นส่งลูกสามคนไปเรียนเมืองนอกได้สบาย แต่แล้วเหตุการณ์ก็พลิกผัน เมื่อลูกชายคนที่สี่ (เกรียงศักดิ์ เทพผดุงพร) เรียนจบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มารบเร้าให้เปลี่ยนจากขายมะพร้าวลูกมาทำกะทิพาสเจอไรซ์ เพราะเล็งเห็นว่ารายได้ของครอบครัวเริ่มคงที่ไม่สูงขึ้นเหมือนก่อน เนื่องจากเกษตรกรเริ่มมีรถขนส่งได้เอง ไม่ต้องอาศัยเรือไฟเหมือนในอดีต
เขาอ้อนวอนอยู่เป็นปีจนเธอใจอ่อน ลงทุนไปประมาณ 3 ล้านบาท สร้างโรงงานชาวเกาะ จ้างคนงานเกือบ 100 คน แต่เมื่อลงมือทำ
ก็ขาดทุน ด้วยเป็นสินค้าใหม่ที่คนไม่กล้าซื้อ เพราะชินกับการใช้กะทิสดทำอาหาร ฉันลงทุนซื้อถังน้ำแข็งเดินอ้อนวอนฝากแม่ค้าแช่ขาย
หน้าร้าน บางคนก็ยอม แต่บางคนบอกว่าเกะกะเพราะมั่นใจว่าขายไม่ได้ เพื่อนๆ ที่ขายมะพร้าวด้วยกันกว่า 10 โรงงานบอกว่าสามีเธอโง่
คนเขากินกะทิสดๆ กัน จะมาทำกะทิถุงให้เจ๊งทำไม ทุก ๆ วันคนในครอบครัวต้องกลับมานั่งร้องไห้ปรึกษากัน ฝ่ายลูกชายเขาเสียใจมาก
แต่ก็ไม่ท้อ เดินหน้าทำทุกอย่างเพื่อสร้างแบรนด์ชาวเกาะ ทั้งติดป้ายโฆษณาตระเวนทำอาหารจากกะทิให้คนชิมตามต่างจังหวัด
ตอนทำโฆษณาโทรทัศน์ ลูกปิดบังเธอ มาบอกอีกทีตอนที่ต้องจ่ายเงินค่าจ้าง 5 ล้านบาท เขาบอกว่า ”ผมยอมให้แม่ด่าครั้งเดียว
เพราะถ้าบอกแม่ก็คงไม่ให้ทำ เธอนั่งร้องไห้ เพราะจนปัญญาที่จะหาเงินมาให้เขา ฝ่ายสามีก็โมโหลูกถึงขั้นลงไม้ลงมือ ปากก็พร่ำด่าว่า
ขายมะพร้าวอยู่ดีๆ ทำไมต้องทำให้เป็นหนี้ด้วย เธอเองก็ทั้งปลอบทั้งโมโห เพราะเงินที่สะสมมาจมหายไปหมด ของมีค่าในบ้านก็ขาย
มาสู้หมดแล้ว แม่ของเธอเตือนว่าอย่าไปดุลูก ลูกใช้เงินไปกับการทำงาน ไม่ได้เอาไปเล่นการพนัน เงินเป็นของนอกกาย ถ้าไม่ตาย
ก็หาใหม่ได้ และแม่จะหาทางช่วยอีกแรงหนึ่ง เธอบอกสามีว่าเราต้องสู้ ต้องอดทน เพราะเขาเริ่มถอดใจแล้ว เมื่อขี่หลังเสือแล้วห้ามลง
ต้องอดทนให้ถึงที่สุด เงินจะหมดก็หมดไป แต่เราจะยอมแพ้ให้คนอื่นเขาดูถูกซ้ำเติมไม่ได้
ต่อมาเมื่อกิจการเริ่มอยู่ได้ ลูกชายคนโตที่กลับมาจากอเมริกาจึงแนะนำให้เธอลงทุนทำกะทิกระป๋องเพื่อยืดเวลาหมดอายุ ฉันจึงใช้ที่ดิน
ที่มีอยู่เป็นหลักทรัพย์กู้เงินมาอีก 20 ล้าน และเริ่มบุกตลาดต่างประเทศจนธุรกิจเดินหน้าเติบโต จนกลายเป็นกะทิสำเร็จรูปรายแรก
อันดับ 1 ของประเทศไทย ไม่เคยคิดเลยว่าคนจบแค่ชั้นประถมอย่างเธอจะประสบความสำเร็จได้
ทุกวันนี้ความสุขในชีวิตคือการแบ่งปัน เราเคยลำบากมาก่อน เมื่อถึงช่วงเวลาที่สุขสบายก็ไม่อยากเห็นใครต้องลำบาก อยากจะช่วยเหลือคนที่ต้องการโอกาสให้ได้มากที่สุด จึงปณิธานที่มุ่งมั่นแบ่งปัน "โครงการปันรัก" โดยเทพผดุงพร จึงเกิดขึ้นตามความตั้งใจอันแน่วแน่
ของ คุณแม่จรีพร เทพผดุงพร ผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ที่พลิกโชคชะตาของตนเอง ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค และพร้อมแบ่งปันทุกโอกาส
แก่สังคมให้น่าอยู่ขึ้น